Site MapContact Us
Cart Buy Now or Call 02-402-6117
081-359-6920
Search

เป็น SME ทำ R&D ได้อะไร



มีบริษัทจำนวนมากที่นำหลักการวิจัยและพัฒนา (R&D หรือ Research and Development) ไปเป็นหลักการในการคิดค้นหรือพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อนำเสนอก่อนออกสู่ตลาด โดยกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญและคุ้มค่าที่จะลงทุนเวลารวมถึงเงินทุนในบางกรณีเพื่อทำการวิจัยให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพราะความพอใจของลูกค้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขอบเขตของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นจึงต้องเกิดกับสินค้าและบริการที่ต้องทันกับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ซึ่งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นมีวัตถุประสงค์สูงสุดก็เพื่อให้เกิดยอดขาย โดยสร้างผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ทำให้กระบวนการใช้งานดีขึ้น และรองรับความต้องการจากบริษัทสู่ลูกค้าได้อย่างแท้จริงนั่นเอง

สำหรับบางองค์กรนั้นก็ไม่ได้คาดหวังจากลงทุนกับการทำ R&D เพื่อผลที่จะปรากฏได้ระยะเวลาอันใกล้ แต่ทั้งนี้บริษัทใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งกลับจัดสรรงบประมาณจำนวน 1 ใน 10 ในแต่ละปีเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เกิดความสำเร็จได้จริงในอนาคต

ทำ R&D อย่างไร

โดยกระบวนการทำ R&D นั้นเริ่มต้นด้วยการระดมความคิดของพนักงานเป็นอย่างแรก เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในแต่ละแผนก หรือแต่ละผลิตภัณฑ์ที่พบเจอ การระดมความคิดนี้จะชี้ให้เห็นถึงช่องทาง หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วจึงได้ตะกอนความคิดที่มีประสิทธิภาพ ว่ามีอะไรบ้างที่ควรจะสำรวจและวิจัยเพิ่มเติมเพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ หรือแก้ปัญหาเก่าให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งอาจรวมถึงการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อกำหนดวิธีการที่เป็นไปได้ว่าวิธีการไหนใช้งานได้ และวิธีไหนใช้งานไม่ได้ 

การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างการวิจัยและพัฒนาตลาด รวมถึงแผนกลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลทางการตลาดว่าอะไรอยู่ในความสนใจของลูกค้า และอาจจะรวบรวมข้อมูลว่ามีอะไรที่ลูกค้าประทับใจเป็นพิเศษ หรือมีอะไรบ้างที่ลูกค้าร้องเรียนอยากให้ปรับปรุง ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งสำหรับนำไปวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ต่อไป สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการนี้คือการประสานงานกันระหว่างทุกฝ่าย ที่จะต้องดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานและเป็นระบบ สร้างกระบวนการผลิตขึ้นด้วยปัจจัยอย่างงบประมาณ และปัจจัยที่สำคัญกว่าอย่างการทำงานที่ตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยเพิ่มความแน่ใจได้ว่าจะการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้เกิดผลประโยชน์ขึ้นอย่างแน่นอน

การวิจัยผลิตภัณฑ์นั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากฝ่ายการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และสามารถเลือกการออกแบบที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้เพราะการออกแบบคือหลักการขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างมาก การนำหลักการออกแบบมาช่วยปรับให้คุณภาพของสินค้าและบริการนั้นๆ ให้ดีขึ้น เพื่อให้ตรงใจกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หรือนำเสนอในสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้

ลองดูตัวอย่างจากการออกแบบการจัดวางในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านหนังสือ เช่น เมื่อโจทย์ (ความต้องการของลูกค้า) คือลูกค้าควรจะค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ด้วยความรวดเร็ว ในกรณีนี้ การนำการออกแบบมาประยุกต์ใช้ในการจัดสรรพื้นที่จะช่วยสนับสนุนให้การจัดวางหน้าร้านเป็นส่วนหนึ่งของการทำกำไรให้ธุรกิจได้ ภายใต้การให้บริการด้วยแนวความคิดเช่นนี้ หลายร้านค้าจึงค้นหาวิธีการดึงลักษณะเด่นของสินค้าให้ปรากฏออกมาสู่สายตาลูกค้าได้ด้วยความรวดเร็วและง่ายดาย  

หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการวิจัยวิธีการทำงานในองค์กรและความต้องการของลูกค้าจนได้ข้อมูลมาครบถ้วนแล้ว เราก็จะสามารถเริ่มลงมือทดสอบสมมติฐานได้โดยการเริ่มลงมือพัฒนาสินค้าหรือบริการออกมาตามข้อมูลที่รวบรวมมาได้ ซึ่งผลของการสร้างนวัตกรรมสินค้าหรือบริการขึ้นมาใหม่นี้ก็จะได้ออกมาเป็นตัวต้นแบบ (Prototype) เพื่อสามารถนำไปทดสอบการใช้งานได้จริง

และเมื่อได้ตัวต้นแบบที่เหมาะสมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการทดลองผลิตตัวต้นแบบนั้นออกมาจริง และนำไปทดลองตลาด โดยในขั้นตอนนี้ฝ่ายตลาดอาจจะลองคิดค้นแคมเปญ หรือวางแผนการโฆษณาผลิตภัณฑ์ไว้ล่วงหน้าก่อนได้ และสุดท้ายเมื่อได้ผลลัพธ์จากการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทดลองขายในตลาดแล้ว องค์กรจะต้องหมั่นบันทึกผลที่กลับมาว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจนำตัวต้นแบบนั้นไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของจริงและนำออกสู่ตลาด เป็นขั้นตอนสุดท้าย

SME ทำ R&D ได้ไหม

อ่านมาจนถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัย วิธีการทำ R&D ทั้งหมดที่พูดถึงมาเป็นเรื่องขององค์กรใหญ่ๆ เท่านั้นหรือเปล่า ต้องมีแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แผนกการตลาดเท่านั้นถึงจะทำ R&D ได้หรือ ถ้าเราทำแค่ร้านขายของชำ หรือร้านกาแฟ ร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นบน facebook เราจะทำ R&D บ้างได้ไหม 

ที่จริงเราอยากให้ลองมองการทำ R&D ว่าไม่ได้เป็นแค่เรื่องของบริษัทใหญ่ๆ ที่ขายผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนเท่านั้น ลองมองว่าอันที่จริง R&D ก็คือเรื่องของการสำรวจความต้องการของลูกค้าว่าลูกค้าชอบอะไร อยากได้อะไร แล้วสินค้าที่เราขายอยู่นั้นเป็นอย่างไร มีจุดไหนที่ยังด้อยอยู่หรืออาจปรับปรุงให้ดีขึ้นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเพิ่มได้อีก เมื่อมั่นใจแล้วว่าถ้าเราปรับปรุงสินค้าเราตามข้อสันนิษฐานนั้นแล้วจึงค่อยลองลงมือปรับเปลี่ยนดูแล้วรอดูผลตอบรับจากลูกค้า

ตัวอย่างเช่นถ้าเราเปิดร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงอยู่บนหน้า facebook แล้ววันนึงเราเห็นว่าร้านอื่นๆ นั้นนอกจากจะขายเสื้อผ้าแล้ว ยังมีขายสร้อยกำไล กระเป๋า รองเท้าที่นางแบบใส่ไปพร้อมๆ กัน และลูกค้าก็นิยมที่จะซื้อเสื้อผ้าพร้อมกับเครื่องประดับเป็นเซ็ทๆ ด้วย เมื่อเห็นดังนั้นเราก็อาจจะลองไปศึกษาดูจากร้านของคนอื่นว่าเขาขายของแบบจัดเป็นเซ็ทกันอย่างไรบ้าง คิดราคาแยกชิ้นหรือรวมเป็นชุด ลูกค้านิยมแบบใดมากกว่า แล้วค่อยมาปรับใช้กับร้านของเราเอง เป็นต้น

การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นตอนการสร้างผลิตภัณฑ์ ใหม่ให้เกิดขึ้นกับบริษัทเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือลูกค้าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ได้ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างศักยภาพอันไม่จำกัดขีดการใช้งานของลูกค้าอีกต่อไป



บทความโดย : incquity.com
ประกาศบทความโดย : https://www.prosoftmyaccount.com
Knowledge
การบัญชีสำหรับกิจการขนาดเล็ก