Site MapContact Us
Cart Buy Now or Call 02-402-6117
081-359-6920
Search

ปัญหาของ SME ไทย (2)



ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ปัญหาด้านการบริหารจัดการเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งพบว่า SMEs จำนวนมากมีปัญหาด้านการบริหารจัดการ การบริหารจัดการเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในด้านอื่นๆ แต่เนื่องจาก SMEs มักเริ่มต้นจากผู้มีประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อมาประกอบธุรกิจเอง ก็มักจะขาดทักษะด้านการบริหารจัดการ เมื่อการบริหารจัดการไม่เป็นระบบ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ควรทำอะไร ทำให้โอกาสในการได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยในการสร้างธุรกิจก็ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากคนที่มีความรู้ความสามารถเมื่อมาพบกับผู้บริหารที่ไม่มีความรู้ ด้านการบริหารจัดการก็จะขาดความมั่นใจ ก็จะลาออก ซึ่งจะเห็นได้ว่า SMEs ที่เจ้าของไม่มีจิตวิทยาในการบริหาร มักมีปัญหาในการจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถ คนเข้าออกบ่อย เพราะ SMEs จะไม่มีจุดอื่นในการดึงดูดคนให้ทำงานกับองค์กรนานๆ ในที่สุดก็อาจได้แต่คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถ

ปัญหาด้านการบริหารจัดการเป็นปัญหาที่เจ้าของมักไม่รู้ และคิดว่าไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นจุดสำคัญในการนำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างง่ายๆ จากประสบการณ์จริง มีโรงงาน 2 แห่งเป็นพี่น้องกัน โรงงานขนาดพอๆ กัน จำนวนคนพอๆ กัน คนน้องเป็นคนที่มีความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการดี ในขณะที่คนพี่ค่อนข้างทำงานแบบลูกทุ่ง บริหารงานแบบข้ามาคนเดียว เชื่อมั่นในตัวเองสูง ทำงานไม่เป็นระบบ ทั้ง 2 โรงงานต้องการให้ที่ปรึกษาวางระบบบัญชีให้โดยการเข้าร่วมโครงการของรัฐ โรงงานน้องได้มอบหมายให้ภรรยา และพนักงาน 1 คน จบ ปวช. มารับคำปรึกษาแนะนำจากที่ปรึกษา และสนับสนุนในทุกรูปแบบให้สามารถทำบัญชีให้สำเร็จ เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญ

ในขณะที่โรงงานพี่ ก็มอบหมายให้ภรรยาและพนักงานซึ่งจบ ปวช. 1 คนมารับคำปรึกษาและจัดทำระบบบัญชี เช่นกัน ทั้ง 2 โรงงานใช้ที่ปรึกษาคนเดียวกัน โรงงานน้องสามารถจัดทำระบบบัญชีได้สำเร็จภายในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เนื่องจากมีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ และไม่แทรกแซงการทำงาน แต่จะสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นอย่างเต็มที่ ในขณะที่โรงงานพี่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถจัดทำระบบบัญชีได้ เพราะผู้บริหารจะมอบหมายให้พนักงานทำงานหลายๆ อย่างตามที่ตนเองต้องการ เมื่อที่ปรึกษากลับก็จะให้ไปทำอย่างอื่น งานที่ที่ปรึกษามอบหมายให้ทำ ก็ไม่มีความคืบหน้า ภรรยาก็ไม่ได้ให้เวลากับงานบัญชี ยังคงทำงานทุกอย่างที่เข้ามาตามความเคยชิน ทั้งงานการขาย งานจัดซื้อ งานบริหารทั่วๆ ไปของโรงงาน ทั้งที่งานต่างๆ เหล่านี้ก็มีคนทำอยู่แล้ว แต่ไม่ไว้วางใจ และในที่สุดผู้พี่ก็โทษที่ปรึกษาว่าไม่มีความสามารถในการจัดทำระบบบัญชี คือไม่โทษตัวเอง ไม่รู้ว่าปัญหาเกิดจากตนเอง ทั้งที่ที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้องพยายามอธิบายว่าปัญหาเกิดจากอะไร นี่คือสิ่งที่อันตราย เพราะผู้ที่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการจำนวนมากมักไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นตัวปัญหา แต่มักจะโทษคนอื่นว่าเป็นสาเหตุของปัญหา คือคนอื่นแย่หมด ตนเองดีอยู่คนเดียว เช่น พนักงานลาออก ก็จะด่าว่าพนักงานทำงานไม่ดี ไม่มีความตั้งใจ คู่แข่งให้ค่าจ้างสูงกว่า เกิดจากปัญหาส่วนตัว แต่ไม่เคยยอมรับว่าที่ลาออกอาจมาจากการบริหารงานที่ไม่เป็นระบบ บรรยากาศการทำงานไม่ดี ผู้บริหารไม่ฟังคนอื่น เชื่อมั่นใจตัวเองสูง ใช้คำพูดหยาบคายในการด่าลูกน้อง เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะต้นตอของปัญหา เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในองค์กร ไม่รู้ว่าตนเองเป็นปัญหา ลูกน้อง คนใกล้ชิดก็เกรงใจไม่กล้าบอก ปัญหาจึงยังคงมีอยู่ต่อไป และบั่นทอนการเติบโตของ SMEs อย่างน่าเสียดาย

การแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการ SMEs มีบุคลิกที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น คิดแต่ว่าตนเองถูก คนอื่นผิด คนอื่นไม่ดี

แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีมีอยู่หลายๆ แนวทางวิธีแรกก็คือการได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับการบริหาร จัดการ เช่น หลักสูตรการบริหารงาน SMEs หลักสูตรการเป็นผู้นำ หลักสูตรการสอนงาน เป็นต้น การเข้าอบรมหลักสูตรเหล่านี้จะทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ และเมื่อมีเปรียบเทียบกับตนเอง ก็จะเห็นถึงความแตกต่าง และอาจสามารถวิเคราะห์ต่อไปว่าปัญหาขององค์กรตนเป็นอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ก็ทำให้เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง

อีกแนวทางหนึ่งคือการหาที่ปรึกษามาช่วยให้คำปรึกษาแนะนำ ที่ปรึกษาจะต้องมีความรู้และประสบการณ์และมีทักษะในการโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การมีที่ปรึกษาทำให้สามารถช่วยวิเคราะห์ปัญหาได้ดี และสามารถช่วยติดตามได้ว่าคำปรึกษาแนะนำได้ถูกนำไปปฏิบัติหรือไม่ ได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผลก็ปรับวิธีการใหม่ๆ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งทำตามที่ที่ปรึกษาแนะนำแล้ว แต่ด้วยความเคยชิน ก็อาจกลับมาทำแบบเดิมอีก การหาที่ปรึกษาอาจจะหาเองโดยตรงหรือเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น ก็จะมีโอกาสใช้ที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์มาช่วยในการปรับปรุงด้าน การบริหารจัดการ

อีกวิธีหนึ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการ คือ การหาโอกาสไปดูงานในกิจการของผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจเป็นกิจการของเพื่อนๆ ที่เป็นธุรกิจเดียวกันหรือคนละธุรกิจ หรือกิจการของคนอื่นที่ยินยอมให้ผู้สนใจเข้าชมเพื่อเป็นวิทยาทานซึ่งส่วน ใหญ่เมื่อเข้าร่วมโครงการซึ่งจัดโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น จะมีโอกาสได้เข้าชมการบริหารจัดการของกิจการอื่นที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ก็จะเกิดความมานะในการปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้าเป็นประเภทชอบแก้ตัว อ้างเหตุผลสารพัดเพื่อไม่ต้องปรับตัวตามกิจการอื่น ก็คงจะปรับปรุงแก้ไขได้ยาก การจะแก้ไขได้จะต้องเปิดใจ พร้อมที่จะปรับปรุงอย่างไม่มีข้ออ้างใดๆ

ปัญหาด้านการผลิต SMEs ทุกรายต้องมีการผลิต จะมากหรือน้อยเท่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ถ้าเป็นโรงงานผลิต ก็จะต้องดูแลด้านการผลิตเต็มๆ ไม่น้อยไปกว่าการขาย ถ้าเป็นบริการประเภทร้านอาหาร การผลิตหรือการปรุงอาหารก็มีความสำคัญมากพอๆ กับการผลิตสินค้า แต่ถ้าเป็นประเภทซื้อมาขายไป ปัญหาการผลิตก็จะน้อย

ปัญหาด้านการผลิตที่พบส่วนมากจะพบใน SMEs ที่เป็นประเภทผลิตและจำหน่าย คือ มีโรงงานผลิตเอง และนำสินค้าที่ผลิตไปจำหน่าย

SMEs ที่มีโรงงานผลิตสินค้า ไม่ว่าโรงงานขนาดเล็กหรือโรงงานขนาดใหญ่ จำนวนมากจะมีปัญหาด้านการผลิตในรูปแบบต่างๆ เช่น ปัญหาสินค้าที่ผลิตคุณภาพไม่สม่ำเสมอ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาอัตราการสูญเสียสูง ไม่สามารถผลิตสินค้าให้สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด ปัญหาเครื่องจักรเสียบ่อย ต้นทุนการผลิตสูง เป็นต้น ปัญหาที่กล่าวข้างต้นเป็นปัญหาพื้นฐานที่ SMEs ส่วนใหญ่ประสบ จะมากหรือน้อยเท่านั้น ถ้าผู้บริหารเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารการผลิตมาก่อน เช่น เคยเป็นผู้จัดการโรงงานมาก่อน ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โรงงานที่มีเครื่องจักรที่ใหม่กว่า ปัญหาด้านเครื่องจักรเสียบ่อยก็มีน้อยกว่าโรงงานที่ใช้เครื่องจักรเก่ามาหลายสิบปี

การแก้ไขปัญหาด้านการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประสิทธิภาพการผลิตมีผลต่อคุณภาพสินค้าซึ่งจะมีผลต่อการตลาด เนื่องจากหากสินค้าไม่มีคุณภาพ ลูกค้าก็จะไม่เชื่อถือ ขยายตลาดลำบาก หรือขายไม่ได้ราคา หรือหากผลิตสินค้ามีคุณภาพ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีส่วนที่สูญเสียสูง สินค้าที่ถูกคัดออก เนื่องจากไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้พลังงานมาก ก็จะทำให้ต้นทุนสินค้าสูง ทำให้ขาดทุนสูงหรือกำไรน้อย หากจะขายให้ได้กำไร ราคาจะสูง ก็ไม่สามารถแข่งขันได้

การแก้ไขปัญหาด้านการผลิตจะต้องปรับปรุงทั้งด้านการบริหารจัดการและด้านโรง งานควบคู่กันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคหรือเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตของ SMEs

การแก้ไขปัญหาด้านการผลิต ผู้ประกอบการอาจจะใช้วิธีการศึกษาด้วยตนเองหรือเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร ที่เกี่ยวข้องกับด้านการผลิตและนำมาประยุกต์ใช้กับโรงงาน

อีกแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงแก้ไขคือการขอคำปรึกษาแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการผลิตซึ่งผู้ประกอบการอาจจ้างเองโดยตรงโดยการสืบค้นหาผู้เชี่ยวชาญจากระบบฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือเข้าร่วมโครงการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการในลักษณะนี้หลายโครงการ ค่าใช้จ่ายไม่สูง เนื่องจากภาครัฐมีเงินอุดหนุนในการจ้างที่ปรึกษา

นอกจากนี้การศึกษาดูงานจากโรงงานของเพื่อนๆ หรือโรงงานอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการยินยอมให้เข้าชมเพื่อเป็นวิทยาทาน การเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็มีกิจกรรมการดูงานแทรกอยู่ด้วย และที่สำคัญคือการร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ทำให้เกิดเครือข่าย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งไม่เฉพาะด้านการผลิต แต่ครอบคลุมในด้านอื่นๆ อีก เช่น ด้านการตลาด การบริหารจัดการ เป็นต้น

ปัญหาของ SMEs มีมากมาย ปัญหาหลักๆ ที่ยกขึ้นมากล่าวนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่มักจะพบทั่วไป หากได้รับการแก้ไขแล้ว ปัญหาอื่นๆ ก็จะได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาลงไปโดยปริยาย



บทความโดย : คุณณัฐพล ลีลาวัฒนานันท์
ประกาศบทความโดย : https://www.prosoftmyaccount.com
Knowledge
การบัญชีสำหรับกิจการขนาดเล็ก