Site MapContact Us
Cart Buy Now or Call 02-402-6117
081-359-6920
Search

ปัญหาของ SME ไทย (1)



เมื่อกล่าวถึง SMEs หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่อาจไม่ทราบนิยามที่ชัดเจนว่าเมื่อไรจะเรียก SMEs ซึ่งในทางการแล้วได้มีกฎกระทรวงกำหนดนิยามไว้ชัดเจน เช่น หากเป็นกิจการผลิต วิสาหกิจขนาดกลางจะหมายถึงวิสาหกิจที่มีการจ้างงาน 50-200 คน และมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเกิน 50-200 ล้านบาท หากเป็นกิจการค้าปลีก จะต้องมีการจ้างงาน 16-30 คน และมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเกิน 30-60 ล้านบาท หากเป็นกิจการบริการ จะต้องมีการจ้างงาน 51-200 คน และมีสินทรัพย์ถาวรเกิน 50-200 ล้านบาท เป็นต้น

SMEs ถือว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากที่สุด และมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานไม่น้อยไปกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ ของ SMEs เป็นอย่างมาก ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล ตลอดจนได้มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs แล้วก็ตาม SMEs ในปัจจุบันจำนวนมากยังประสบปัญหาต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปปัญหาสำคัญๆ ที่ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไขได้ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

ปัญหาด้านเงินทุน เป็นปัญหาที่ดูเหมือน SMEs จำนวนมากจะประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากผู้ที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งอันสืบเนื่องจากจากการทำงานในองค์กรของภาครัฐหรือภาคเอกชนนานๆ แล้วเห็นโอกาสก็ออกมาทดลองทำธุรกิจของตนเอง หรือบางรายอาจเกิดจากปัญหาการทำงานทั้งจากปัญหาการเลิกจ้าง ปัญหาความไม่พึงพอใจในงานที่ทำ ก็ลาออกมาทำธุรกิจเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเงินทุนน้อย เว้นบางรายที่พ่อแม่มีทรัพย์สินเงินทองให้นำมาลงทุน ปัญหาก็จะน้อยหรือไม่มีปัญหาเลย

ปัญหาทางการเงินของ SMEs ยังมาจากธนาคารไม่ยินยอมให้สินเชื่อเนื่องจากไม่มีหลักประกัน ไม่มีผลงานที่น่าเชื่อถือมาก่อน การบริหารยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร ธนาคารเลยไม่กล้าให้สินเชื่อ ก็เลยทำให้ปัญหาด้านเงินทุนเป็นปัญหาใหญ่ เป็นที่น่าเสียดายว่ามี SMEs จำนวนมาก ที่สินค้าน่าสนใจ เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ไม่สามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เนื่องจากไม่มีเงินทุนมากพอที่จะขยายกำลังการผลิต ไม่สามารถซื้อเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนา ประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า

ปัญหาด้านเงินทุนเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากพอสมควร แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นให้ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อแก่ SMEs แต่ก็จะได้รับเฉพาะที่มีความพร้อม เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารเท่านั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามสนับสนุนด้านเงินทุนหรือสินเชื่อ แต่ก็ทำได้อย่างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของ SMEs ดังนั้นทางออกที่ดีสำหรับ SMEs ในการช่วยตัวเองคือการสะสมทุน คือพยายามไม่ลงทุนให้สินทรัพย์ถาวรเกินความจำเป็น หากสามารถเช่าได้ก็ควรใช้วิธีเช่าไปก่อน เก็บเงินทุนไว้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนก่อน เมื่อมีความพร้อมจึงค่อยลงทุนในทรัพย์สินถาวร อย่ารีบร้อนลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมด้านเงินทุน

ปัญหาด้านการตลาด SMEs มักมีปัญหาด้านการตลาด ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาสินค้าที่ผลิตไม่เป็นที่ต้องการของตลาด คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ไม่สวยงาม ตราสินค้าไม่เป็นที่รู้จัก เป็นต้น ทำให้การทำตลาดทำได้ด้วยความยากลำบาก

นอกจากนี้ SMEs ยังมีปัญหาขาดบุคลากรด้านการตลาด ถ้าโชคดี เจ้าของเป็นผู้ที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการขายหรือการตลาดมาก่อนก็จะ ช่วยแก้ปัญหานี้ไปได้ แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อน และไม่สามารถหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาด ก็จะต้องลองถูกลองผิดไปอีกนาน ยกเว้นได้สะสมประสบการณ์หรือมีพรสวรรค์ด้านการพูดและมีบุคลิกที่เหมาะสมกับ ด้านการขาย ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

ปัญหาด้านการตลาดของ SMEs ยังมีผลมาจากมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด เนื่องจากสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ไม่มีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ร้านค้าต่างๆ จึงไม่ให้ความสนใจจำหน่ายสินค้าให้ ยกเว้นสินค้ามีคุณภาพสูง ก็อาจได้โอกาสเข้าไปขายในห้างฯ ดังๆ หรือร้านสะดวกซื้อ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่มีความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะได้ช่องทางจัดจำหน่ายที่ดีก็ยากพอสมควร

SMEs มักไม่สามารถหาทำเลที่ตั้งร้านค้าที่ดีๆ เช่น หากจะเปิดร้านอาหาร ก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะซื้อหรือเช่าร้านค้าในที่ชุมชน หรือในห้างฯ ที่มีชื่อเสียง ก็ย่อมทำให้เสียโอกาสในด้านการขาย

SMEs มักจำหน่ายในท้องถิ่น ตลาดในประเทศ ไม่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน ปัญหาด้านบุคลากร และสินค้าไม่เป็นที่รู้จัก

SMEs จะต้องพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาด้านการตลาด ว่ามาจากปัจจัยใด การแก้ปัญหาคงต้องแก้ไขให้ตรงจุด ถ้าเกิดจากตัวสินค้า ก็ต้องพยายามหาความรู้ ปรึกษาผู้รู้ ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา สินค้าและบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก SMEs จะต้องขวนขวายหาความรู้และความช่วยเหลือ อย่ารอให้ภาครัฐเข้ามาหา เพราะจะทำให้เสียโอกาส

หากปัญหาเกิดจากการไม่มีความรู้ด้านการขายและด้านการตลาด และยังไม่สามารถจ้างผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการตลาดมาช่วย ก็คงต้องช่วยตัวเองด้วยการหาหนังสือด้านการขายและการตลาดมาศึกษา เข้าอบรมหลักสูตรด้านการตลาด ขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญผ่านโครงการของภาครัฐ ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็มีโครงการให้ความช่วยเหลือในลักษณะนี้ทุกปี

หากเกิดจากปัญหาทำเลที่ตั้งไม่ดี และยังไม่มีเงินทุนก็คงต้องอดทนสะสมทุนไปก่อน เมื่อมีความพร้อมจึงค่อยหาทำเลที่ตั้งใหม่ หรือไม่ก็ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่ไม่ต้องใช้เงินมาก แต่สินค้าต้องมีความโดดเด่น เช่น รสชาติอร่อย เป็นต้น ไม่เช่นนั้น ประชาสัมพันธ์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะลูกค้ามาครั้งเดียวก็จะไม่มาอีกเลย

SMEs ที่ไม่มีความพร้อมด้านเงินทุนและสินค้าไม่เป็นที่รู้จัก จะต้องใช้ความโดดเด่นของตัวสินค้าและความสามารถของผู้ขายเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้สินค้าสามารถขายได้ หากไม่มีทั้ง 2 อย่าง ปัญหาก็คงมีปัญหาพอสมควร

ปัญหาด้านการบริหารจัดการยังมีอีกมากมายทั้งด้านการบริหารจัดการปัญหาการผลิต และปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ SMEs ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะไม่เติบโต ต้องล้มลุกคลุกคานอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถผ่านพ้นไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น และอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้นจึงจะกล่าวถึงปัญหา SMEs ไทยในบทความต่อไป



บทความโดย : คุณณัฐพล ลีลาวัฒนานันท์
ประกาศบทความโดย : https://www.prosoftmyaccount.com
Knowledge
การบัญชีสำหรับกิจการขนาดเล็ก